ในฐานะที่เป็นคาทอลิก ก็ขอเขียนซะหน่อยแล้วกัน ไม่รู้เหมือนกัน ว่าเดี๋ยวนี้เด็กคริสต์รุ่นหลัง ๆ ยังรู้ความหมายของเทศกาลปัสกาอยู่หรือเปล่า อันนี้เขียนจากที่เคยเรียนมา แล้วก็จากการค้นคว้าเพิ่มเติมบนอินเตอร์เน็ตนะครับ ยังไง ๆ ถ้ามีจุดไหนผิด ก็บอกกันได้นะครับ
==========
ชื่อ
คนคริสต์ในประเทศไทยจะเรียกอีสเตอร์ว่าเป็นเทศกาลปัสกานะครับ เพราะชาวโปรตุเกสเป็นผู้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในไทย
ปัสกา เป็นชื่อที่ใช้ในภาษากลุ่มโรมัน (ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาลี, โปรตุเกส, โรมาเนีย, ฯลฯ) เอามาจากภาษากรีก Pascha ซึ่งแปลงมาจากภาษาฮีบรู (ภาษาของชาวยิว) Pesach อีกที
อีสเตอร์ เป็นชื่อที่ใช้ในภาษากลุ่มเจอร์มัน (เยอรมัน, อังกฤษ, ดัทช์, ฯลฯ) มาจากชื่อเดือนในฤดูใบไม้ผลิในปฏิทินสมัยโบราณ ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลนี้พอดี ชื่อเดือนนี้อาจจะมาจากชื่อของเทพีในสมัยโบราณอีกทีหนึ่ง
==========
ความหมายของเทศกาล
อีสเตอร์เป็นการฉลองการ "เกิดใหม่" ในศาสนาคริสต์ จะฉลองถึงเรื่อง ๒ เรื่องในพระคัมภีร์
เรื่องแรก อยู่ในพระธรรมเก่า (ก่อนสมัยพระเยซู) เป็นการฉลองการผ่านจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ ใครที่เคยดูการ์ตูน The Prince of Egypt ที่เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับโมเสสนำชาวยิวออกจากอียิปต์ (ถ้าใครจำเพลง When You Believe ที่ Whitney Houston กับ Mariah Carey ร้องได้ เพลงนี้เป็นเพลงประกอบการ์ตูนเรื่องนี้ครับ)
เรื่องที่สอง อยู่ในพระธรรมใหม่ (สมัยพระเยซูเป็นต้นไป) เป็นการฉลองการกลับคืนชีพของพระเยซู หลังจากสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ถ้าใครจำหนังเรื่อง The Passion of the Christ ได้ ก็ตอนจบของหนังนั่นแหละครับ
ในศาสนายิว จะฉลองแค่เรื่องแรกเท่านั้น เพราะตามความเชื่อของศาสนายิว พระเยซูไม่ใช่บุตรของพระเจ้าอย่างที่ศาสนาคริสต์เชื่อ เทศกาลฉลองของชาวยิวจึงไม่ได้เรียกว่าอีสเตอร์ แต่เรียกว่า เทศกาลการผ่านข้าม (ไทย), Passover (English), Pessach (deutsch) แทน
ศาสนาคริสต์ ฉลองทั้งสองเรื่องครับ เรียกเทศกาลนี้ว่า ปัสกา (ไทย), Easter (English), Ostern (deutsch)
==========
พิธีกรรม
เทศกาลนี้ มีพิธีตั้งแต่วันอาทิตย์ก่อนปัสกาจนถึงวันอาทิตย์ปัสกาดังนี้นะครับ
อาทิตย์ใบลาน (Palm Sunday, Palmsonntag) - วันอาทิตย์ก่อนอาทิตย์ปัสกา ระลึกถึงการเสด็จเข้าเมืองเยรูซาเล็มของพระเยซูตามพระวรสาร ที่มีชาวเมืองวางเสื้อคลุมและกิ่งไม้ใบลานบนทางที่พระเยซูจะผ่าน เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่เขาเชื่อว่าเป็นพระผู้ช่วยให้รอด ในพิธีมิสซาก็จะมีการเสกใบลาน แล้วก็แห่ใบลานเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์นี้ครับ แล้วก็แจกจ่ายใบลานให้ศาสนิกชนนำกลับไปบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลครับ ส่วนมากก็จะนำไปพับกันให้สวยงามแล้วก็ตั้งบนหิ้งพระ แล้วก็เอามาให้โบสถ์ในปีถัดไป เพื่อนำไปเผาสำหรับใช้ในพิธีรับเถ้าในวันพุทธรับเถ้า
พฤหัสศักดิ์สิทธิ์ (Maundy Thursday, Gründonnerstag) - ระลึกถึงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูกับอัครสาวก และการรำพึงในสวนเกทเซมนี (สวนมะกอก, Gethsemane, Getsemani) ก่อนที่จะถูกนำตัวไปตรึงกางเขน ในพิธีมิสซาจะมีพิธีล้างเท้า โดยพระสงฆ์จะล้างเท้าคนสิบสองคน ตามข้อความในพระวรสารที่กล่าวถึงพระเยซูล้างเท้าอัครสาวกสิบสองคน เป็นการแสดงถึงความไม่ถือตัวของพระเยซู (ตามที่พระศาสนจักรตีความ)
ศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday, Karfreitag) - ระลึกถึงการที่พระเยซูถูกนำตัวไปพิพากษา จนถึงสินพระชนม์บนไม้กางเขน และนำพระศพลงจากไม้กางเขนไปเก็บไว้ในถ้ำเก็บศพ ถือเป็นวันสำคัญมากทางศาสนา ในพิธีมิสซา จะมีการเดินรูป ๑๔ ภาค ระลึกถึงเหตุการณ์ ๑๔ เหตุการณ์ ตั้งแต่การพิพากษา จนถึงนำพระศพไปเก็บ แล้วก็มีแห่กางเขนรอบโบสถ์
เสาร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Saturday, Karsamstag) - ในไทยบางทีเรียกว่าวันเสาร์เสกน้ำเสกไฟ เพราะมีการเสกน้ำเสก แล้วก็เสกไฟที่จะนำไปจุดบนเทียนปัสกา ไม่มีการรับศีลในมิสซา แต่จะมีคนสวดภาวนาข้ามเที่ยงคืนในโบสถ์หลังมิสซาจบ เรียกกิจกรรมนี้ว่าตื่นเฝ้า เพื่อแสดงถึงการรอคอยการกลับคืนชีพของพระเยซู
อาทิตย์ปัสกา (Easter, Ostersonntag) - ระลึกถึงการกลับคืนชีพ ฉลองใหญ่ประจำปี พอ ๆ กับคริสต์มาส ไม่มีอะไรพิเศษในมิสซามาก นอกจากความหมายของวัน เพราะก่อนหน้านี้จะเป็นคล้าย ๆ ช่วงสำรวม หลาย ๆ คนจะพลีกรรมด้วยการไม่กินเนื้อสัตว์บ้าง สวดสายประคำทุกวัน วันละสายบ้าง วันนี้เป็นเหมือนวันสิ้นสุดการพลีกรรมเพื่อเฉลิมฉลองน่ะครับ เพราะฉะนั้นบรรยากาศจะค่อนข้างรื่นเริงน่ะครับ
==========
ไข่กับกระต่าย ?
ไข่เป็นเครื่องหมายของการเกิดใหม่ กระต่ายเป็นเครื่องหมายแห่งการเจริญพันธุ์ครับ เขาใช้สัญลักษณ์ ๒ อย่างนี้ในการฉลองฤดูใบไม้ผลิมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว พระศาสนจักรจัดวันฉลองปัสกาตรงกับการฉลองฤดูใบไม้ผลิทีหลังเอง เพราะมีความหมายดี สอดคล้องกับการเกิดใหม่
==========
ทำไมเป็นคนละวันกับปีที่แล้ว
โทษพระศาสนจักรแล้วกันครับ ที่ทำเรื่องให้ยุ่งยาก สาเหตุน่าจะเพราะว่า เขาต้องการให้มันตรงกับวันอาทิตย์ หลังพระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลิครับ อากาศจะได้เหมาะกับการฉลอง วันเริ่มฤดูใบไม้ผลิได้จากการคำนวนทางดาราศาสตร์ คือ วันที่กลางวันกับกลางคืนเท่ากัน หลังจากนั้น กลางวันจะยาวกว่ากลางคืน วันพระจันทร์เต็มดวงที่ใช้ ไม่ใช่วันพระจันทร์เต็มดวงจริง แต่เป็นวันที่ได้จากการคำนวนครับ คล้าย ๆ ที่เราคำนวนข้างขึ้นข้างแรมน่ะครับ
==========
ไม่รู้จะเขียนอะไรแล้วครับ จะมีใครอ่านมาถึงตรงนี้บ้างเนี่ย สุขสันต์วันปัสกาแล้วกันนะครับ
เล็ก
23 March 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment